การทำครอบฟันในเด็ก เป็นการรักษาฟันของเด็กเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยส่วนใหญ่แล้วจะนิยมทำในกรณีที่เด็กมีฟันผุ แต่เป็นฟันผุที่ไม่สามารถอุดฟันได้ หรือเนื้อฟันเหลือน้อยมาก ๆ จนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ แต่ก็อยากรักษาฟันไว้เพื่อรอให้ฟันแท้ขึ้นมาในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งในบทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับการครอบฟันน้ำนมสำหรับเด็ก การครอบฟันคืออะไร? มีประโยชน์อย่างไรกับเด็กบ้าง? ไปดูกัน
ครอบฟันเด็ก คืออะไร
การครอบฟันเด็ก (Pediatric Crown) หรือการครอบฟันน้ำนม คือ กระบวนการทางทันตกรรมเพื่อรักษาฟันผุสำหรับเด็ก ในกรณีที่มีฟันผุรุนแรงจนไม่สามารถรักษาด้วยการอุดฟันน้ำนมได้ตามปกติ เนื่องจากเนื้อฟันเหลือน้อย โดยจะใช้วัสดุเลียนแบบซี่ฟันธรรมชาติ แล้วสวมครอบฟันที่เสียหายลงไปทั้งซี่ เพื่อให้ฟันสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งวัสดุที่นำมาครอบฟันสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่
1. ครอบฟันน้ำนมสีเงิน
ครอบฟันน้ำนมสีเงิน ทำมาจากโลหะกันสนิมสีเงิน หรือเรียกว่าครอบฟันนางฟ้า ซึ่งจะมีความแข็งแรง ทนทาน แต่จะไม่ค่อยดูเป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะหากครอบฟันในบริเวณฟันด้านหน้า หรือบริเวณที่สังเกตเห็นชัดเจน อาจจะรู้สึกว่าไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไหร่
2. ครอบฟันน้ำนมสีขาวเหมือนฟัน
ครอบฟันน้ำนมสีขาวเหมือนฟัน ซึ่งจะมีความเป็นธรรมชาติและมีความสวยงาม เพราะจะกลมกลืนไปกับฟันตามธรรมชาตินั่นเอง สำหรับการทำครอบฟันที่ทำจากวัสดุสีขาวเหมือนฟัน จะมีวัสดุที่เลือกใช้อยู่ 2 ประเภท ได้แก่
- วัสดุอุดฟัน (Strip Crown) จะต้องระมัดระวังในการใช้งานมากเป็นพิเศษ เพราะสามารถแตกหักหรือบิ่นได้ง่าย แม้จะมีความสวยงาม ดูเป็นธรรมชาติมาก แต่อ่อนในเรื่องความแข็งแรง
- เซอร์โคเนียเซรามิก (Zirconia Ceramic Crown) มีทั้งความสวยงามและความแข็งแรง แถมยังดูเป็นธรรมชาติ มีความมันวาวเหมือนกับเนื้อฟันจริง แต่จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง
ใครที่ควรทำครอบฟันน้ำนมบ้าง
- เด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากกว่า 2 ด้าน เนื้อฟันเหลือน้อยจนไม่สามารถอุดฟันได้
- เด็กที่มีรอยผุใหญ่บนฟันน้ำนม
- เด็กที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้ว
- เด็กที่มีฟันน้ำนมผุลุกลามมาก หรือมีความเสี่ยงที่จะฟันผุมาก
- เด็กที่มีปัญหาเนื้อฟันน้ำนมไม่แข็งแรงเท่าเนื้อฟันปกติ
ข้อดี-ข้อเสียของการครอบฟัน
การทำครอบฟันในเด็ก เป็นการรักษาฟันผุที่มีการลุกลามหรือมีรอยผุขนาดใหญ่ ทำให้เนื้อฟันเหลือน้อยจนไม่สามารถอุดฟันหรือรักษาด้วยทันตกรรมแบบอื่นได้แล้ว แต่ก็จะเป็นการทำทันตกรรมที่มีราคาสูงกว่าการอุดฟัน ใช้เวลาทำการรักษามากกว่าการอุดฟัน และจำเป็นต้องกรอฟันมากกว่าการอุดฟัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดอันตรายต่อโพรงประสาทฟันได้ถึง 1-15% อีกด้วย
ขั้นตอนการครอบฟันในเด็ก
- ก่อนจะทำการครอบฟัน หมอฟันจะทำการ x-ray ภายในช่องปาก เพื่อประเมินว่าสามารถครอบฟันได้หรือไม่
- หมอฟันจะใส่ยาชา และแผ่นยางกันน้ำลาย
- หมอฟันจะกรอเนื้อฟันเพื่อเอาส่วนที่ผุออกก่อน แต่หากมีฟันผุถึงโพรงประสาทฟัน จะต้องทำการรักษารากฟันก่อน
- ขั้นตอนสุดท้าย หมอฟันจะทำการครอบฟันน้ำนมด้วยวัสดุที่เลือก และทำการยึดติดกับฟัน
การดูแลหลังครอบฟัน
หลังจากทำการครอบฟันเสร็จแล้ว ก็จะมีข้อปฏิบัติในการดูแลหลังจากครอบฟัน ซึ่งหมอฟันจะแนะนำให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองหลังจากทำการครอบฟันเสร็จแล้ว ซึ่งจะมีวิธีการดูแล ดังนี้
- รักษาความสะอาดภายในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ ควรแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้น้ำยาบ้วนปากและไหมขัดฟัน
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะส่งผลกระทบกับฟัน เช่น การกัดสิ่งของที่แข็ง
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่แข็งและเหนียว โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ หลังจากทำ
- ตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำ อย่างน้อยทุก 6 เดือน
บทสรุป
การทำครอบฟันน้ำนมสำหรับเด็ก เป็นวิธีการรักษาฟันเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ และรอให้ฟันแท้ขึ้นมาตามเวลาที่เหมาะสมและขึ้นมาในตำแหน่งที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการทำทันตกรรมที่จะใช้ยาชาในขณะทำ จึงไม่ต้องกังวลว่าลูกของคุณจะรู้สึกเจ็บปวด แต่หลังจากทำเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการดูแลสุขอนามัยภายในช่องปากอยู่เสมอ
ที่คลินิกทันตกรรม Dio Dental มีบริการครอบฟันทั้งเด็กและผู้ใหญ่โดยทีมทัตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้เครื่องมือทันตกรรมที่ใช้ในการรักษาก็มีความทันสมัยและได้มาตรฐาน