การขูดหินปูน เป็นทันตกรรมอย่างหนึ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือ 12 เดือนเพื่อสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี เพราะหากปล่อยไว้นาน อาจจะทำให้สุขภาพเหงือกอ่อนแอ และมีปัญหาเหงือกอักเสบตามมาได้ ซึ่งในบทความนี้เราจะพาไปดูความสำคัญของการขูดหินปูน และส่องเงื่อนไขของประกันสังคมว่าจะสามารถเบิกสิทธิในการขูดหินปูนได้อย่างไร
ทำไมต้องขูดหินปูน
รู้หรือไม่ว่าปัญหาสุขภาพช่องปากหลายๆ อย่างก็มีต้นตอมาจากหินปูนเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ปัญหากลิ่นปาก เหงือกอักเสบ เหงือกบวม รากฟันอักเสบ หรือโรคปริทันต์ในช่องปากที่จะทำให้คุณหมดความมั่นใจในการยิ้มหรือพูดคุยและส่งผลต่อบุคลิกภาพในที่สุด
การขูดหินปูน คืออะไร
การขูดหินปูน เป็นการใช้เครื่องมือทันตกรรมในการการกำจัดคราบหินปูนที่เกาะอยู่ตามบริเวณฟัน และ บริเวณซอกฟัน ซึ่งคราบหินปูนที่เกาะอยู่นั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียในช่องปากทำปฏิกิริยากับโปรตีนหรือเศษอาหารที่มีการตกค้างอยู่ตามซอกฟัน
(อ่านเพิ่มเติม: มีหินปูนที่ฟันมาก ๆ ไม่ดี สร้างปัญหาในช่องปากมากกว่าที่คิด)
ข้อดีของการขูดหินปูน
- ลดการเกิดโรคเหงือกและโรคปริทันต์ ซึ่งจะมีเลือกออกขณะแปรงฟัน รวมถึงมีกลิ่นปาก เหงือกบวมแดง เหงือกร่น มีหนองออกจากร่องเหงือก และฟันเคลื่อนห่างออกจากกัน
- ป้องกันฟันผุ ลดกลิ่นปาก
- ช่วยยืดระยะเวลา และอายุของฟัน เพราะฟันจะแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
- เพิ่มความมั่นใจในการยิ้มหรือพูดคุย และส่งผลดีต่อบุคลิกภาพ
ข้อควรระวังของการขูดหินปูน
แน่นอนว่าในการขูดหินปูนก็จะมีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขูดหินปูน ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคตับ โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ โรคไตวายระยะสุดท้าย โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และความดันโลหิตสูง เป็นต้น เพราะหากมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดระหว่างขูดหินปูนก็อาจทำให้เป็นอันตรายได้
นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยอีกหนึ่งกลุ่มที่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดและหัวใจก่อน คือ ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีอาการค่อนข้างรุนแรงจนต้องใช้เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ เนื่องจากอุปกรณ์ความถี่สูงอาจจะส่งผลให้เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติ หรือทำให้หยุดการทำงานไปชั่วขณะได้
สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์สามารถทำการขูดหินปูนได้ แต่มีเงื่อนไขสำหรับการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 โดยจะต้องปรึกษาทั้งทันตแพทย์และแพทย์ที่ดูแลการตั้งครรภ์ก่อนเพื่อความปลอดภัย แต่ทางที่ดีควรจะเลื่อนไปทำการขูดหินหลังการคลอดหากไม่ใช่กรณีเร่งด่วน
ขั้นตอนการขูดหินปูน
1. ตรวจสุขภาพฟัน
เพื่อตรวจสอบว่ามีปัญหาเหงือกอักเสบ หรือปัญหาสุขภาพฟันอื่นๆ หรือไม่ และอาจมีการเอ็กซเรย์ฟันเพื่อประเมินขอบเขตของการสะสมของคราบพลัคและหินปูนร่วมด้วย
2. เริ่มใช้เครื่องมือในการขูดหินปูน
และรวมไปถึงคราบแบคทีเรียให้ออกมาจากช่องปาก
3. ใช้หัวแปรงไฟฟ้า
ทำความสะอาดและกำจัดคราบหินปูนที่ตกค้าง จากนั้นจะขัดทำความสะอาดฟันด้วยผงขัดฟัน
4. เมื่อขัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ทันตแพทย์จะใช้ไหมขัดฟันเพื่อตรวจสอบอีกรอบ และยังช่วยขจัดคราบหินปูนหรือยาสีฟันที่อาจตกค้างจากการขัดฟัน
5. บ้วนปากหนึ่งครั้ง
เพื่อล้างเศษที่ยังตกค้างจากการขูดหินปูน
6. เคลือบฟลูออไรด์
เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการขูดหินปูน
ทำฟันประกันสังคม คืออะไร
ทำฟันประกันสังคม คือ สิทธิของผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และ 39 ที่ทำการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ในการใช้สิทธิทางทันตกรรมได้ฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการรับบริการ ภายในวงเงิน 900 บาทต่อปี ซึ่งทันตกรรมที่จะสามารถทำได้ มีดังนี้
- การขูดหินปูน
- การอุดฟัน
- การถอนฟัน
- การถอนฟันคุด และผ่าฟันคุด
- การเบิกค่าฟันปลอม
ขูดหินปูนใช้สิทธิประกันสังคมอย่างไร
การขูดหินปูน จากการใช้สิทธิประกันสังคม สามารถทำได้ภายในวงเงิน 900 บาทต่อปี โดยไม่จำเป็นต้องสำรองจ่าย ซึ่งจะสามารถทำได้ในคลินิกทันตกรรมและสถานพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ดังนั้น ก่อนที่จะใช้สิทธิจะต้องตรวจสอบ หรือทำการสอบถามให้แน่ชัดก่อน
(อ่านเพิ่มเติม: การขูดหินปูน ประกันสังคมเบิกได้ไหม ทำอย่างไรบ้าง)
บทสรุป
การขูดหินปูนนั้นสามารถทำได้ทุกวัย และไม่มีอายุขั้นต่ำในการเริ่ม เพราะถือเป็นการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากที่ดีและช่วยให้ฟันแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีความสำคัญสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน หรือกลุ่มแรงงานที่มีบริการของสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ทุกคนที่เข้าร่วมประกันสังคมได้รับสิทธิในการทำฟันได้ฟรี โดยไม่ต้องทำรองจ่าย เพื่อสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี
และหากใครต้องการใช้สิทธิประกันสังคมในการขูดหินปูน สามารถมาใช้บริการได้ที่ Dio Dental ได้เช่นกัน โดยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Dio Dental Clinic